เรื่องเล่าหลากหลายใน “กาแฟนานาชาติ”

เรื่องเล่าหลากหลายใน “กาแฟนานาชาติ”
เคยนึกกันเล่นๆ มั้ยครับว่า..ชาวแอฟริกันคนแรกที่นำเมล็ดของผลไม้ป่าชนิดหนึ่งมาลองชงเป็นเครื่องดื่มกินคงไม่เคยคิดว่า วันหนึ่งในอนาคต เครื่องดื่มของเขาจะกลายเป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมที่สุดชนิดหนึ่งของโลก

และมากกว่านั้น..มันยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนทั่วทุกทวีปจำนวนหลายพันหมื่นล้านคนเสียด้วย

ครับ , เรากำลังพูดถึง “กาแฟ”

กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และไม่ว่ากาแฟเดินทางไปที่ไหน ที่แห่งนั้นก็จะมีผู้คิดค้น “นวัตกิน” ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อปรุงแต่งสร้างสรรค์รสชาติของมันให้แปลกแตกต่างออกไป

เพื่อให้ถูกลิ้นคนในท้องถิ่นบ้าง เพื่อค้นหาสูตรสร้างสรรค์ใหม่ๆ บ้าง มากมายจนเกิดกลายเป็นวัฒนธรรมกาแฟที่หลากหลายตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก

กาแฟอาหรับ
ดินแดนตะวันออกกลางคือสถานที่ให้กำเนิดวัฒนธรรมการดื่มกาแฟ คำว่ากาแฟ หรือ Coffee นั้นมาจากคำว่า Qahwa ในภาษาอารบิกนั่นเอง มีหลักฐานบันทึกไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ว่า ชาวอาหรับเป็นชนชาติแรกที่คั่วเมล็ดกาแฟ และชงกาแฟแบบที่เราชงกันในปัจจุบัน

ในการชงกาแฟอาหรับ เมล็ดกาแฟจะถูกนำไปคั่วที่อุณหภูมิ 165 – 210 องศาเซลเซียส โดยอาจอาจเติมกระวานเพื่อเพิ่มกลิ่นรสเผ็ดร้อน จากนั้นนำไปบด แล้วผสมน้ำร้อนโดยไม่ผ่านการกรอง ก่อนจะเสิร์ฟในหม้อต้ม กาแฟหน้าตาสวยงามที่เรียกว่าดาลลาห์ (Dallah) กาแฟที่ได้ออกมาจะมีรสเข้มข้นมาก จึงมักรินใส่แก้วทีละนิดเท่านั้น

ชาวอาหรับไม่นิยมใส่น้ำตาลในกาแฟ แต่จะดื่มกาแฟคู่กับของหวานที่มีรสหวานจัด เช่น ผลไม้แห้ง เพื่อขับเน้นรสขมของกาแฟให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ความนิยมการดื่มกาแฟของชาวอาหรับ ทำให้มีการเปิดร้านกาแฟหรือ Coffeehouse ขึ้นด้วย โดยร้านกาแฟเหล่านี้ไม่เพียงขายกาแฟ แต่ยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนไปพบปะพูดคุย สูบบารากู่ หรือเล่นเกมกระดานต่างๆ ร่วมกันซึ่งฟังดูแล้วก็แทบไม่ต่างจากร้านกาแฟในปัจจุบันเลยสักนิด

บูนนา (Bunna)
แม้ไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่คอกาแฟจำนวนมากเชื่อว่า ชาวเอธิโอเปียนคือชนกลุ่มแรกที่เริ่มดื่มกาแฟ เพราะต้นกาแฟเป็นพืชประจำถิ่นของประเทศเอธิโอเปีย

การดื่มกาแฟของชาวเอธิโอเปียนได้ถูกพัฒนาจนกลายเป็นพิธีกรรมที่มีชื่อว่า “บูนนา” ซึ่งมักจะจัดขึ้นอย่างน้อยวันละครั้ง เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชน พิธีบูนนาจะจัดขึ้นที่บ้านของเจ้าภาพ ผู้ชงกาแฟ ซึ่งต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น จะนำเมล็ดกาแฟสดที่ยังเป็นสีเขียวลงไปคั่วในกระทะจนมีสีเข้มและมีกลิ่นหอม จากนั้นนำเมล็ดกาแฟมาบดด้วยครกไม้ แล้วใส่ลงในกาน้ำร้อน ก่อนจะเสิร์ฟในถ้วยกระเบื้องเล็กๆ ที่ไม่มีหูจับ โดยอาจเติมน้ำตาลและสมุนไพรอื่นๆ ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มรสชาติ

พิธีบูนนาจะใช้เวลาราวหนึ่งถึงสองชั่วโมงถือเป็นประสบการณ์ที่ผู้เข้าร่วมจะได้เห็นการชงกาแฟแบบดั้งเดิมอย่างครบถ้วนทุกกระบวนการ

เอสเพรสโซ่
เอสเพรซโซ่คือนวัตกินที่เปลี่ยนวิธีการชงกาแฟให้เข้าสู่ยุคใหม่ โดยใช้การอัดน้ำร้อนแรงดันสูงผ่านเมล็ดกาแฟที่คั่วบดแล้ว เพื่อสกัดเอารสชาติของกาแฟออกมาให้มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะได้กาแฟเข้มข้นสีดำสนิทแล้ว ยังทำให้ได้ครีมหรือฟองที่เกิดจากน้ำมันในเมล็ดกาแฟด้วย ซึ่งมีแต่วิธีการชงแบบเอสเพรสโซ่เท่านั้นที่ทำได้

เครื่องชงกาแฟเอสเพรสโซ่ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นในปี 1884 โดยอันเจโล โมรีออนโด ชาวเมืองตูริน ประเทศอิตาลี่ อุปกรณ์ต้นแบบชิ้นนี้ก็ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นเครื่องชงกาแฟเอสเพรสโซ่หน้าตาทันสมัยอย่างที่เราเห็นตามร้านกาแฟในปัจจุบัน

ในการสั่งเอสเพรสโซ่ เราสามารถเลือกปริมาณเป็นช็อตได้ มีทั้งแบบซิงเกิ้ลช็อต (ใช้กาแฟ 7 กรัม) ดับเบิ้ลช็อต (ใช้กาแฟ 14 กรัม) และทริปเปิ้ล (ใช้กาแฟ 21 กรัม) โดยนิยมดื่มแบบไม่ใส่น้ำตาล นอกจากนี้ เอสเพรสโซ่ยังใช้เป็นเบสของกาแฟสูตรอื่นๆ เช่น คัปปุชชีโน่ มักคิอะโต้ และลาเต้ ด้วย

แฟรปเป้ (Frappé)
เพราะฤดูร้อนที่ประเทศกรีซนั้นร้อนจัด ชาวกรีกจึงได้สร้างสรรค์เครื่องดื่มเย็นๆ ขึ้นมามากมายหลายสูตร รวมถึงกาแฟเย็นยอดนิยมอย่างแฟรปเป้ด้วย

แฟรปเป้แบบที่เราดื่มกันในปัจจุบันนั้น ได้รับการคิดค้นขึ้นแบบไม่ตั้งใจในปี 1957 เมื่อพนักงานของเนสท์เล่คนหนึ่งเกิดอยากดื่มกาแฟหลังอาหารกลางวัน แต่เขาไม่สามารถหากาต้มน้ำร้อนได้ พนักงานหัวใสคนนี้จึงได้ลองนำกาแฟผง น้ำเย็น และน้ำแข็งใส่ในเชกเกอร์ (อุปกรณ์ทำค็อกเทล) แล้วเขย่าให้เข้ากัน

เรื่องเล่าหลากหลายใน “กาแฟนานาชาติ”

วัฒนธรรมการดื่มกาแฟ