วัฒนธรรมการดื่มกาแฟในญี่ปุ่น

วัฒนธรรมการดื่มของญี่ปุ่น

      ประวัติความเป็นมาของวัฒนธรรมกาแฟในญี่ปุ่น เริ่มต้นจากการนำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวดัตช์เมื่อปี ค.ศ. 1800   ตอนนั้นยังไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนญี่ปุ่นมากนัก ญี่ปุ่นเริ่มมีร้านกาแฟแห่งแรกเมื่อปี 1888 เป็นร้านกาแฟสไตล์ตะวันตก  ชื่อว่า “ร้านกาแฟ คาฮีฉะคัง” (Kahiichakan)

      การเกิดร้านกาแฟ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เครื่องดื่มแบบตะวันตกถูกประยุกต์เข้ากับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น แม้ว่าช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ทำให้มีการชะลอการนำเข้ากาแฟ แต่ในทศวรรษที่ 1960  กาแฟก็เริ่มกลับเข้ามาในตลาดญี่ปุ่นและเฟื่องฟูอีกครั้ง

วัฒนธรรมการดื่มของญี่ปุ่น

      การนำเข้ากาแฟในญี่ปุ่นรวมแล้ว มีปริมาณมากกว่าการบริโภคชาเขียว ซึ่งเป็นเครื่องดื่มประจำชาติญี่ปุ่น  ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเองมีการคิดค้นและพัฒนากาแฟรวมถึงต่อยอดธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การเปิดตัวกาแฟกระป๋อง ในปี 1969 โดยบริษัท Ueshima Coffee Company หรือ UCC ที่เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ ด้านการคั่วเมล็ดกาแฟ กลุ่มแรกในประเทศญี่ปุ่น 

      กาแฟกระป๋องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมการบริโภคกาแฟของคนญี่ปุ่นแพร่หลายมากขึ้นเพราะพกพาสะดวก เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ต่อยอดด้วยตู้หยอดเหรียญ และเครื่องชงกาแฟ บวกกับความที่ญี่ปุ่นมีมีประวัติศาสตร์ค่อนข้างยาวนานเรื่องกาแฟ ทำให้ญี่ปุ่นมีการพัฒนาวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่มีรูปแบบเฉพาะตัว รวมไปถึงมีร้านคาเฟ่ หรือร้านกาแฟต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะแบรนด์ที่เป็นเชนร้านกาแฟ ไม่ว่าจะเป็น  Starbucks Coffee , Doutor, Moriva Coffee, Ginza Renoir , Tully’s Coffee ฯลฯ

      ในปัจจุบัน ตามความนิยมที่ค่อนข้างหลากหลาย  ส่งผลให้กาแฟในรูปแบบต่างๆ อาทิ กาแฟผง กาแฟพร้อมดื่ม  กาแฟคั่วบด มีแนวโน้มขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน  ทำให้แต่ละร้านหรือผู้ประกอบการเกี่ยวกับธุรกิจกาแฟในญี่ปุ่นทั้งแฟรนไชส์ในประเทศและต่างประเทศ จำต้องปรับตัวเพื่อเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคของคอกาแฟมากขึ้น  รวมทั้งมีการปรับสูตรให้ถูกใจคนญี่ปุ่น จึงจะสามารถอยู่รอดได้อย่างมั่นคง