กาแฟสู่ถิ่นกำเนิดตะวันออกกลาง

นับตั้งแต่โลกได้รู้จักกับกาแฟครั้งแรกในเอธิโอเปีย กาแฟก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวของมันเองและมันก็ได้เปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างมาก เมื่อเดินทางเข้าสู่โลกอิสลาม เมล็ดที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาก็ได้เปลี่ยนเป็นเครื่องดื่มสีดำรสขมทางสังคม ชาวมุสลิมเหล่านั้นก็ได้นำมันส่งต่อไปยังยุโรปผ่านระบบการค้าขายแบบผูกขาด แต่เมื่อกาแฟได้เป็นสิ่งปูทางไปสู่การค้าเสรีของชาวยุโรป ระบบการค้าผูกขาดของชาวตะวันออกกลางก็ไม่สามารถต้านทานต่อระบบใหม่นี้และยังผลักไสให้ดินแดนตะวันออกกลางออกห่างจากการมีส่วนร่วมในการค้าขายกาแฟในระบบการค้าโลก บทบาทของดินแดนตะวันออกกลางที่มีต่อกาแฟจึงคงเหลือแต่สถานภาพการเป็นผู้บริโภคกาแฟจากภายนอกดินแดน ทุกวันนี้เยเมนซึ่งครั้งหนึ่งเป็นอดีตแหล่งผูกขาดผลิตกาแฟแห่งเดียวของโลก ยังคงมีการผลิตกาแฟอาราบิกาอยู่ แต่มีปริมาณที่น้อยมากจนไม่อาจจะเทียบกับกาแฟจากบราซิลได้ทั้งที่เป็นชนิดสายพันธุ์เดียวกัน แม้ว่ากาแฟแบบเตอร์กิช คอฟฟี่สมัยจักรวรรดิออตโตมันที่มีลักษณะเหมือนโคลนเหลวๆ ยังเป็นที่นิยมอยู่ในดินแดนตะวันออกกลางหลายประเทศอย่างอิหร่าน ตุรกี และซาอุดีอาระเบีย แต่ก็มีการใส่น้ำตาลลงไปผสมในกาแฟนี้ด้วย ซึ่งสิ่งนี้ยังคงยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงการดื่มกาแฟที่เป็นผลจากการค้าเสรีในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ ตามครัวเรือนต่างๆ ก็อาจจะมองเห็นกระป๋องหรือขวดโหลใส่กาแฟสำเร็จรูปไร้สารคาเฟอีน ซึ่งมีที่มาจากการขยายกิจการการค้าของบริษัทผลิตกาแฟของสหรัฐ ที่มาพร้อมกับกระแสแนวคิดบริโภคนิยมและการสร้างความนิยมยี่ห้อสินค้าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

แต่กระนั้นก็ยังไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า วิถีกาแฟแบบดั้งเดิมยังคงมีชีวิตอยู่ในสังคมเบดูอิน ซึ่งยังคงดื่มกาแฟบดหยาบๆ ใส่กระวานดังเช่นในสมัยศตวรรษที่ ๑๕ และอียิปต์ที่ถึงจะใช้กาแฟสำเร็จรูปในการปรุงกาแฟขายทั่วไป แต่รสนิยมของชาวอียิปต์ยังคงชอบกาแฟไม่ใส่น้ำตาลอยู่ เมล็ดกาแฟเล็กๆ ที่ได้ถือกำเนิดจากเอธิโอเปีย เดินทางสู่ดินแดนในตะวันออกกลาง ผ่านเส้นทางการค้าไปยังยุโรป ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วทั้งโลก ก็ได้เดินทางหวนกลับมายังดินแดนถิ่นกำเนิดของมันในรูปลักษณ์ใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม พลังของมันก็ได้ทำการเปลี่ยนแปลงโลกไปมากด้วย