การดื่มกาแฟของชาวเวียดนาม

เวียดนามเป็นชนชาตินิยมดื่มกาแฟ ในศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสได้นำกาแฟและเผยแพร่วัฒนธรรมการดื่มกาแฟในเวียตนาม  เวียตนามจึงเริ่มปลูกกาแฟและได้เป็นประเทศผู้ปลูกกาแฟสำคัญของโลก โดยในช่วงปลายศตวรรษ 1990 เวียตนามเป็นผู้ปลูกกาแฟใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล รวมทั้งเป็นผู้ส่งออกกาแฟสำคัญ เวียตนามปลูกกาแฟหลายพันธ์ในภาคต่างๆของประเทศ อาทิ Arabica, Robusta, Chari (Excelsa) , Catimor เป็นต้น ทำให้สามารถผลิตกาแฟผสมให้ได้รส ลักษณะ และความสมดุลของกาแฟที่หลากหลาย การชงกาแฟแบบเวียตนามดั้งเดิม มีลักษณะคล้ายกับกาแฟของไทย คือกาแฟเย็น ชงโดยใส่นมข้นและน้ำแข็ง และกาแฟร้อน มีทั้งแบบกาแฟดำไม่ใส่นม และกาแฟร้อนใส่นมข้น กาแฟแบบดั้งเดิม นิยมใส่นมข้น มากกว่านมสด

               ยอดจำหน่ายกาแฟของร้านกาแฟในเวียดนามในปี 2005 มีมูลค่า 14.9  พันล้านดอง หรือ 31.3 ล้านบาท โดยมีร้านกาแฟทั่วประเทศประมาณ  8,350  ร้าน  เพิ่มจากปี 2004 ร้อยละ11 ความนิยมดื่มกาแฟมีผลส่วนหนึ่งมาจากการเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกกาแฟหลากรสและคุณภาพ

                ตลาดร้านกาแฟในเวียดนาม   ครองตลาดโดยบริษัทท้องถิ่น บริษัท  Trung   Nguyen  Coffee  จำกัด  เป็นผู้นำในธุรกิจนี้   บริษัทครองตลาดร้านกาแฟในเวียดนามถึงร้อยละ  85 ของยอดจำหน่ายกาแฟทั้งสิ้น และมีเครือข่ายร้านกาแฟ ร้อยละ 92 ของจำนวนร้านกาแฟทั้งหมดของเวียตนาม บริษัทได้ชื่อว่า เป็น  Starbucks  ของเวียดนาม และในช่วงต้นปี  2007  ก็ยังไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ร้านกาแฟต่างชาติ  เข้าไปดำเนินธุรกิจแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ทั้งบริษัท Coffee Bean and Tea Leaf  และStarbucks  มีแผนการตั้งร้านกาแฟในเวียตนาม โดยคาดกันว่า Starbucks กำลังดำเนินการเรื่องร่วมทุนกับบริษัทเวียตนาเพื่อให้สามารถเจาะขยายตลาดเวียตนามได้รวดเร็วขึ้น

                คนเวียดนามมักใช้ร้านกาแฟเป็นสถานที่พบปะทางธุรกิจ  และสังคม  ร้านกาแฟมีทั้งแบบร้านกาแฟแฟรนไชส์  สาขา  และร้านกาแฟอิสระ  คนหนุ่มสาวในเมืองมักนิยมเข้าร้านแฟรนไชส์ และสาขา  คนรายได้น้อยมักเข้าร้านกาแฟอิสระซึ่งมีอยู่ทั่วไปในทั้งเมืองใหญ่  เช่น  ฮานอย 

                โฮชิมินส์  และในชนบท  ร้านกาแฟอิสระที่เป็นที่นิยมมาก  เช่น  Coffee New Window,  Hale  Coffee  และ  Nang  Saiggon  มักพบในเมืองใหญ่

                ในช่วง  2-3 ปีที่ผ่านมา  จำนวนครัวเรือนซึ่งมีรายได้สูงคือ  ครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนสูงกว่า  6.5  ล้านดอง  หรือ  13,650  บาทต่อเดือน  ได้เพิ่มจากร้อยละ 7.3  เป็นร้อยละ 12  ปัจจัยรายได้ที่สูงขึ้นนี้ทำให้ผู้ซื้อผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความต้องการสินค้า  และบริการที่มีคุณภาพ  มีคลาสมากขึ้น  คนกลุ่มนี้ยินดีจ่ายเงินสูงขึ้นเพื่อดื่มกาแฟที่มีคุณภาพ  และนั่งดื่มด่ำกับบรรยากาศร้านที่มีที่ตกแต่งอย่างสวยงาม  พร้อมทั้งมีกลิ่นกาแฟที่หอมกรุ่นตลอดเวลา จึงทำให้ร้านกาแฟแบบมีสาขา  และแฟรส์ไชส์  เช่น  ร้านของบริษัท     Trung  Nguyen  มีการขยายตัวและเปิดสาขาอย่างรวดเร็วในเมืองต่างๆ ของเวียดนาม  โดยบริษัทมีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง  จนทำให้ชื่อ  “Trun  Nguyen”  เป็นชื่อแบรนด์เนมประจำชาติเวียดนาม

                ภาพยนตร์เกาหลี  เป็นที่ชื่นชอบของวัยรุ่นเวียดนาม  และกลุ่มคนอายุระหว่าง  25-39 ปี  และส่งอิทธิพลให้คนเหล่านั้นเลียนแบบวิถีชีวิต  และการใช้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มคนระดับกลางและระดับสูงของเกาหลี  อาทิเช่น  การพบปะสังคม ณ  ร้านกาแฟสมัยใหม่ 

                ร้านกาแฟทั่วไปในเวียดนามมักจะมีคาราโอเกะให้บริการด้วย คนเวียดนามชอบคาราโอเกะ  ถือเป็นสันทนาการเพื่อพักผ่อนหย่อนใจเช่นเดียวกับคนไทย  อย่างไรก็ตาม  คนเวียดนามมักสั่งกาแฟและเครื่องดื่มชนิดต่างๆ  เมื่อไปร้านกาแฟสมัยใหม่มากกว่าจะสั่งอาหาร  อาหารในร้านกาแฟที่สั่งก็มักเป็นอาหารว่าง  เช่น  แซนวิช  เค้ก  สลัด 

                นอกจากคาราโอเกะแล้ว  ร้านกาแฟบางแห่งให้บริการ  Light  Speed  Wireless Internet (Wi-Fi)  โดยไม่ต้องเสียเงินด้วย  ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักศึกษาและหนุ่มสาววัยทำงาน  คนกลุ่มนี้มักมี Laptop นำไปต่อใช้  Internet  ที่ร้านกาแฟ

บทความน่ารู้ : การดื่มกาแฟของชาวเวียดนาม วัฒนธรรมการดื่มกาแฟ