Skip to contentหลายคนอาจจะทราบดีอยู่แล้วว่าเครื่องดื่มยอดฮิตของ “เกาหลีใต้” ไม่ใช่อะไรมุ้งมิ้งที่ไหน แต่เป็นเครื่องดื่มโปรดของใครหลายคนอย่าง “กาแฟ” นั่นเอง เห็นได้จากร้านกาแฟที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด รีวิวคาเฟ่น่านั่งในเกาหลีก็มีอยู่เพียบ โดยจากการรายงานของรอยเตอร์ ระบุว่า ในปี 2015 เกาหลีใต้มีร้านกาแฟมากถึง 49,600 ร้าน เพิ่มขึ้นจากในปี 2011 ที่มีอยู่ราว 12,400 ร้านเท่านั้น ขณะที่เว็บไซต์ เดอะ โคเรีย อีโคโนมิก เดลี รายงานว่า ในปี 2016 เกาหลีใต้มีการนำเข้าเมล็ดกาแฟสูงถึง 159,260 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7.2 แสนล้านวอน หรือประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยแล้วชาวเกาหลีกินกาแฟกันคนละ 348 แก้ว/ปี (หากคิดว่าใน 1 แก้วมีกาแฟ 10 กรัม)
และถึงแม้จะมีร้านกาแฟอยู่ทั่วทุกหัวถนน แต่เทรนด์การดื่มกาแฟของคนเกาหลีกลับเป็น “กาแฟซองสำเร็จรูป” โดยจะเห็นว่าในออฟฟิศหรือสำนักงานส่วนใหญ่จะมีกาแฟซองสำเร็จรูปไว้ให้พนักงาน ชนิดที่มีเพียงน้ำร้อนไว้ให้ก็พอ ไม่จำเป็นต้องมีหม้อชงกาแฟหรือช่วงเวลาให้ดื่มด่ำกับการชงกาแฟเลย หรือแม้กระทั่งนอกออฟฟิศ ก็มักจะเห็นกาแฟซองสำเร็จรูปตามร้านอาหาร, บ้านคนเกาหลีทั่วประเทศ และขายเป็นกาแฟแก้วกระดาษเล็กๆ จากเครื่องหยอดเหรียญที่ติดตั้งในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง, ปั๊มน้ำมัน, สถานีขนส่ง หรือแม้แต่ข้างถนนทั่วไป
รสชาติของกาแฟสำเร็จรูปเหล่านี้มีตั้งแต่อเมริกาโน, ลาเต้, คาปูชิโน่ ไปจนถึงมอคค่า ซึ่งในซองส่วนใหญ่จะประกอบด้วยกาแฟ, น้ำตาล และครีมเทียม
ความนิยมกาแฟสำเร็จรูปนี้อาจเป็นเพราะไม่ต้องใช้เวลาชงนาน และราคาถูกมาก โดยมีราคาอยู่ที่ซองละ 150 วอนเท่านั้น หรือประมาณ 4.4 บาท ทำให้ออฟฟิศทั้งหลายจึงมีกาแฟสำเร็จรูปไว้บริการให้พนักงานแบบฟรีๆ
สำคัญที่สุดคือกาแฟสำเร็จรูปเหล่านี้มีความสะดวกสบาย หากินง่ายตามบ้านหรือที่ทำงาน แม้ว่าการต้มกาแฟดื่มเองหรือร้านกาแฟเชนจะเพิ่มขึ้น แต่การออกไปดื่มกาแฟนอกบ้านบางครั้งยังถูกมองว่าจะทำในโอกาสพิเศษหรือไปพบปะมากกว่า ส่วนกาแฟสำเร็จรูปนั้นเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน
แบรนด์กาแฟซองสำเร็จรูปอย่าง “แม็กซิม” (Maxim) ที่เริ่มทำตลาดในเกาหลีใต้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ ถือว่าเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ เพราะครองตลาดส่วนใหญ่ได้ โดยผู้ผลิตกาแฟแม็กซิมอย่างบริษัท Dongsuh Food ประมาณการว่า ชาวเกาหลีมากกว่า 75% ดื่มกาแฟสำเร็จรูป และในปัจจุบันก็ทำการตลาดด้วยการนำนักร้องเค-ป๊อป และดารานักแสดงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์
นอกจากนี้ ชาวเกาหลีที่เดินทางหรือย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะระบุว่า รู้สึก “คิดถึงกาแฟซอง” (coffee-sickness) ราวกับคิดถึงบ้านเลยทีเดียว
ทั้งนี้ หากคุณได้ลองชิมกาแฟซองสำเร็จรูปของเกาหลี คุณอาจจะพบว่ามันหวานเกินไป โดยเฉพาะหากคุณเป็นคนดื่มกาแฟดำ และต้องดื่มกาแฟสำเร็จรูป คุณอาจจะต้องนำมาปรุงใหม่ หรือไม่ก็เทจากซองแค่ 3/4 ส่วน หรือแค่ครึ่งซองเท่านั้น ขณะที่ชาวเกาหลีหลายคนบอกว่าพวกเขาชอบนำกาแฟสำเร็จรูปนี้ไปชงแล้วราดลงบนไอศกรีม หรือเป็นแบบ “อัฟโฟกาโต” (affogato style) นั่นเอง
สำหรับผู้เขียนบทความชิ้นนี้ซึ่งเป็นคุณครูสอนภาษาอังกฤษในเกาหลีใต้ เธอระบุว่ากาแฟซองสำเร็จรูปก็เหมือนประสบการณ์อาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ในเกาหลีใต้ของเธอ คือไม่ได้ทำให้หลงรักตอนกินครั้งแรก แต่จะค่อยๆ รู้สึกดีกับมันขึ้นทีละนิดๆ จนตอนนี้หลายเดือนหลายปีผ่านไป กาแฟซองยี่ห้อแม็กซิมกลับกลายเป็นสิ่งรักหัวแก้วหัวแหวนสำหรับเธอไปเลย ชนิดที่กินทุกวันตอนแปดโมงเช้า บ่ายโมง และสี่โมงเย็น กลิ่นและรสชาติของมันก็เหมือนอย่างอื่นที่ทำให้เธอหวนถึงความทรงจำ เช่น รสชาติของอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่างแฮมเบอร์เกอร์ทำให้เธอนึกถึงช่วงฤดูร้อนกับคุณปู่, เครื่องดื่มชูกำลังทำให้เธอนึกถึงช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย ส่วนกาแฟแม็กซิมก็คงเป็นอีกความคิดถึงที่ทำให้เธอจะกลับมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่เกาหลีอีกครั้ง!