วัฒนธรรมการดื่มกาแฟ ที่ทำให้กาแฟเป็นมากกว่าเครื่องดื่ม
ในเมืองไทยไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า กาแฟเข้ามาตั้งแต่สมัยไหน แต่ที่เห็นชัดคือเมื่อมีหนุ่มสาวยุคใหม่เริ่มไปเรียนต่างประเทศ จึงนำเอาวัฒนธรรมของเครื่องดื่มจากต่างประเทศเข้ามาด้วย การดื่มกาแฟที่เห็นว่าค่อนข้างแปลก และแตกต่างอย่างชัดเจนคือ การดื่มกาแฟของชาวตรัง ร้านกาแฟในตรังมักจะไม่ได้ขายกาแฟอย่างเดียว แล้วก็ไม่ได้ขายคู่กับของหวาน แต่มากับของคาว ไม่ว่าจะเป็นติ่มซำ ขนมจีบ ข้าว บะหมี่ ที่เด็ดกว่านั้นคือดื่มกาแฟกับหมูย่าง คงจะไม่ได้เห็นเมนูของคาวแบบนี้ในร้านกาแฟที่ไหน นอกจากที่เมืองตรัง
เขยิบไปอีกนิดใกล้เมืองไทย พม่า เมืองที่ความนิยมของการดื่มกาแฟเพิ่งเริ่มต้น แต่เดิมคาดว่าน่าจะมาจากอิทธิพลของการตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ คนพม่านิยมดื่มน้ำชามากกว่ากาแฟ มีคำกล่าวว่าถ้าไปพม่าแล้ว ไม่ได้ไปเจดีย์กับร้านน้ำชา ถือว่าไม่ได้ไปถึงพม่า เพราะทั้งสองอย่าง กระจายตัวอยู่ทั่วพม่า มีให้ได้เห็นอยู่ทุกมุมเมือง ที่พม่าจะเรียกแต่ร้านน้ำชา จะไม่ค่อยได้เรียกร้านกาแฟอย่างที่เมืองไทย แต่ในร้านน้ำชาก็มีกาแฟไว้ให้บริการ คนพม่าไม่นิยมดื่มกาแฟเย็น มักจะดื่มกาแฟร้อน ของที่กินร่วมกับกาแฟก็จะเป็นของทอด อย่างปาท่องโก๋ โรตี ขนมปังปิ้ง
อีกประเทศที่อยู่ในอาเซียนและนิยมดื่มกาแฟ คือเวียดนาม เวียดนามเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลก สามารถผลิตกาแฟได้หลากหลาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ในเวียดนามมีร้านกาแฟอยู่แทบจะทุกหัวมุมเมือง ร้านกาแฟในเวียดนามที่ไม่ใช่ร้านแฟรนไชส์จากต่างประเทศ มีลักษณะที่ต่างจากที่อื่นคือ มีคาราโอเกะด้วย เพราะคนเวียดนามชอบร้องคาราโอเกะ เรียกว่าเป็นดื่มกาแฟเคล้าเสียงเพลง สนุกสนานกันไป
กาแฟมีความนิยมไปทั่วโลกไม่ใช่แค่ที่ใดที่หนึ่ง ชาวเอเชีย ยุโรป อเมริกา แอฟริกา อเมริกาใต้ ทั่วโลกมักจะมีพื้นที่ที่สามารถปลูกกาแฟได้ และส่งออกกาแฟไปยังที่ต่าง ๆ ดังนั้นในแต่ละพื้นที่จึงมีวัฒนธรรมและเรื่องเล่าเกี่ยวกาแฟมากมาย ให้ได้ติดตามกันไม่รู้จบ