การดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนเป็นประจำทำให้กระดูกพรุน ?
วัฒนธรรมการดื่มกาแฟแพร่ขยายไปทั่วโลก เนื่องด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของกลิ่นหอม รสชาติและความสดชื่นที่ได้รับจากการดื่มกาแฟ จนถึงตอนนี้แม้แต่คนไทยเองก็ยังนิยมบริโภคกาแฟกันเพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากการเปิดตัวของร้านกาแฟสดหลายแห่งหรือซุ้มขายกาแฟเล็กๆที่มีให้เห็นกันอยู่ทั่วไปทั้งเมืองเล็กเมืองใหญ่
เป็นที่ทราบกันดีว่ากาแฟเป็นเหมือนเครื่องดื่มเพิ่มพลังของใครหลายคน คือ ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น มีแรง ไม่ง่วงหงาวหาวนอน ในหนึ่งวันจึงมีคนจำนวนมากที่บริโภคกาแฟกันเป็นประจำอย่างน้อย 2 แก้วขึ้นไป สารในกาแฟที่ทำให้ผู้ดื่มรู้สึกว่ามีพลัง คือ คาเฟอีน ซึ่งจัดได้ว่าเป็นสารเสพติดประเภทหนึ่ง แต่เป็นสารเสพติดที่ไม่ผิดกฏหมายหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพแบบทันทีทันใด คนทั่วไปจึงไม่ค่อยได้ตระหนักถึงโทษของคาเฟอีนมากนัก
คาเฟอีน คืออะไร
คาเฟอีนจัดเป็นสารกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและเมแทบอลิซึมหรือกลไกการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย เพื่อลดความง่วง ความเหนื่อยล้า และจะส่งผลกระตุ้นเส้นประสาท โดยมีการปล่อยโปแตสเซียมและแคลเซียม เข้าสู่เซลล์ประสาท เพิ่มการตื่นตัวของร่างกาย โดยในระบบประสาท คาเฟอีนจะไปกระตุ้นการทำงานในระดับสูงของสมอง เพื่อเพิ่มความกระปรี้กระเปร่า ทำให้กลไกการคิดรวดเร็วและมีสมาธิมากขึ้น
แหล่งที่พบคาเฟอีนได้
เราสามารถพบคาเฟอีนได้จากพืชธรรมชาติ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- ชา พบในใบมากที่สุด
- กาแฟ พบในเมล็ดมากที่สุด
- น้ำอัดลมสีดำ (โค้ก เป๊ปซี่ โคล่า) Kola nut เป็นส่วนผสมสำคัญในการผลิตน้ำอัดลมสีดำทีมีคาเฟอีนอยู่
- เมล็ดโกโก้
- เมล็ดกัวรานา
ประโยชน์ของคาเฟอีน
การบริโภคคาเฟอีนแต่พอดีจะมีประโยชน์ดังต่อไปนี้
- ช่วยให้ร่างกายสดชื่นตื่นตัว
- ลดความเหนื่อยล้า
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ
- ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน
- ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย
โทษของคาเฟอีน
การบริโภคคาเฟอีนที่มากเกินไป จะมีโทษดังต่อไปนี้
- ทำให้เกิดอารมณ์วิตกกังวล
- เพิ่มความดันโลหิต
- กระตุ้นให้ร่างกายปัสสาวะบ่อยขึ้น
- เกิดอาการเสพติด
- ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
- ทำให้เกิดโรคลำไส้เล็กอักเสบ
ปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคคาเฟอีน
ปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่ คือ ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวันหรือเทียบได้กับการดื่มกาแฟทั่วไปปริมาณ 150 มิลลิลิตร 4 แก้ว (ข่าวดีเทียบได้กับการดื่มกาแฟสดสตาร์บัค venti size ขนาด 24 ออนซ์หรือ 710 มิลลิลิตรแก้วเดียว!) การดื่มโคล่า 10 กระป๋องและการดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง 2 ขวด ซึ่งเด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน
กาแฟและคาเฟอีนเกี่ยวข้องกับกระดูกพรุนอย่างไร ?
การบริโภคเครื่องดื่มที่มีปริมาณของคาเฟอีนมากเกินไปมีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะกระดูกแตกหัก กลไกที่สามารถใช้ชี้แจงหรืออธิบายภาวะกระดูกหักก็ยังไม่ดีพอที่จะใช้เป็นข้อสรุปได้ จึงยังมีการถกเถียงกันในเรื่องนี้อยู่อย่างกว้างขวางว่า คาเฟอีนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ ? อย่างไรก็ตาม สถาบันโรคกระดูกพรุนแห่งสหรัฐอเมริกา ก็ออกมาเตือนให้หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณที่มากเกินไปเพื่อลดปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้
คาเฟอีนจะสร้างกลไก 2 อย่างที่มีผลทำให้
- ขัดขวางการสร้างมวลกระดูกใหม่
- ลดความหนาแน่นของมวลกระดูก
มีการศึกษาจำนวนมากที่แสดงถึงผลของคาเฟอีนที่มีต่อการดูดซึมและการขับออกของแคลเซียม ในกลุ่มอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี พบว่าการบริโภคคาเฟอีน (ในรูปของกาแฟ) เกี่ยวข้องกับการทำให้สมดุลของแคลเซียมเสียไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยร่างกายเราจะสูญเสียแคลเซียมน้อยกว่า 5 มิลลิกรัมทุกๆการบริโภคกาแฟหนึ่งแก้ว ผลกระทบของคาเฟอีนเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ หรือเพิ่มความสูญเสียของแคลเซียมในลำไส้ โดยทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางลำไส้มีประสทธิภาพน้อยลง ซึ่งทำให้สูญเสียมวลกระดูก ขัดขวางการสร้างมวลกระดูกใหม่และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภาวะกระดูกแตกหัก (Bone Fractures) อีกด้วย
ในทางตรงกันข้าม ก็มีการศึกษาอีกจำนวนหนึ่งเช่นกัน ที่สรุปผลออกมาว่า การบริโภคคาเฟอีนจากกาแฟไม่ได้มีผลหรือเพิ่มความเสี่ยงของภาวะกระดูกแตกหักแต่อย่างใด (แต่มีการสูญเสียแคลเซียมแน่นอน) การสรุปผลในเรื่องนี้ว่า คาเฟอีนจะทำให้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนได้ 100% จึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำการทดลองและวิจัยกันต่อไป
ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่สามารถสรุปผลได้ว่าการดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนจะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ 100% แต่ทางผู้เขียนเห็นว่า ข้อมูลหรือผลการทดลองบางอย่างจากงานวิจัยที่ได้ศึกษามา มีความน่าสนใจและมีประโยชน์ต่อผู้อ่านในแง่มุมของการนำไปใช้ จึงขอนำเสนอข้อมูลต่อไปนี้เพิ่มเติมครับ
- ปริมาณการดื่มกาแฟที่ไม่มากเกินไป คือ 1-2 แก้ว (อยู่บนมาตราฐานที่ว่า 1 แก้ว = 150 มิลลิลิตร มีคาเฟอีน 80 มิลลิกรัม)
- การดื่มกาแฟในปริมาณมาก ร่างกายยิ่งได้รับคาเฟอีนมากและสูญเสียมวลกระดูกมากตามไปด้วย
- ร่างกายของแต่ละคนตอบสนองต่อคาเฟอีนไม่เหมือนกัน ร่างกายใครมีการย่อยและเผาผลาญคาเฟอีนได้เร็วกว่าจะสูญเสียมวลกระดูกมากกว่าผู้ที่มีการย่อยและเผาผลาญคาเฟอีนได้ช้ากว่า
- หากท่านบริโภคกาแฟแต่น้อย (0-2 แก้วต่อวัน) มวลกระดูกที่สูญเสียไปจากการบริโภคกาแฟอาจไม่ได้มีนัยสำคัญ จนทำให้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนได้
- หากท่านเป็นคนบริโภคกาแฟจำนวนมาก (ตั้งแต่วันละ 4 แก้วขึ้นไป) การบริโภคอาหารเสริมแคลเซียมอาจไม่ได้ช่วยชดเชยหรือป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกได้ การบริโภคกาแฟมากเกินไปจะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย การบริโภคแคลเซียมชดเชยจึงอาจไม่ได้ผล
แม้ผลการวิจัยเรื่องผลของคาเฟอีนจากกาแฟ จะมีข้อขัดแยังกันอยู่บ้าง แต่ถ้าพิจารณารายงานผลการทดลองจากงานวิจัยทั้งหมด จะพบว่า การบริโภคกาแฟในปริมาณที่มากเกินไปมีแนวโน้มจะทำให้เสียมวลกระดูกและเพิ่มความเสี่ยงของกระดูกแตกหัก ต่างจากการดื่มชาที่ผลการทดลองมีแนวโน้มว่า “ช่วยในการเพิ่มมวลกระดูกและลดความเสี่ยงภาวะกระดูกแตกหักได้” รายละเอียดเพิ่มเติม
ส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนยังเชื่อว่า การดื่มกาแฟ มีผลทำให้สูญเสียมวลกระดูกอย่างแน่นอน แต่จะสูญเสียกันมากเท่าไหร่ ? และถึงขึ้นต้องเป็นโรคกระดูกพรุนไหม ? ก็ไม่อาจสรุปเป็นมาตราฐานหรือตัวเลขให้ได้แน่ชัด ขึ้นสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล แต่ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากสูญเสียมวลกระดูกที่เป็นทรัพยากรอันสำคัญและมีค่าต่อร่างกายในช่วงบั้นปลายชีวิตใช่ไหมครับ ?
สรุป
การบริโภคกาแฟเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างระมัดระวัง เพราะผลการทดลองแสดงให้เห็นแล้วว่า มีผลเสียทำให้สูญเสียมวลกระดูก ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่สามารถสรุปผลได้ชัดเจนว่านำไปสู่การเกิดโรคกระดูกพรุนอย่างแน่นอน แต่ถ้าเราทำใจให้เป็นกลางก็จะเห็นว่า “การสูญเสียมวลกระดูกไม่ได้เป็นผลดีกับเราแต่อย่างใด” ดังนั้น การบริโภคกาแฟกันแต่พอดีน่าจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้เราห่างไกลจากโรคกระดูกพรุนได้ครับ