กาแฟ บราซิล (BRAZIL COFFEE)

บราซิลเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ที่สุดของโลกมานานกว่า 150 ปีแล้ว โดยปัจจุบันบราซิลผลิตกาแฟราว 1/3 ของโลกแม้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดจะเคยสูงถึง 80% ก็ตาม กาแฟถูกนำมายังบราซิลจากเฟรนซ์เกียนาในปี 1727 ในขณะที่บราซิลยังอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส

กาแฟต้นแรกในบราซิลถูกปลูกโดย Franciscode Melo Palheta ในเขต Para ทางตอนเหนือของประเทศ ตามตำนานเล่าว่า Palheta เดินทางไปที่เฟรนซ์เกียนาเพื่อทำงานด้วยการทูต และได้หลอกล่อให้ภรรยาของผู้ว่าการของเมืองแอบเอาเมล็ดกาแฟใส่ในช่อดอกไม้แล้วมองให้กับเขาในตอนกลับ กาแฟที่เขานำกลับมาด้วยน่าจะถูกใช้บริโภคในบ้านของเขาเท่านั้น และมันก็เป็นพืชที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไร จนกระทั่งมันเริ่มแพร่ขยายลงไปทางใต้ทั้งในรูปแบบพืชสวนและพืชไร่

» จุดเริ่มต้นของการผลิตเพื่อการค้า «

การผลิตกาแฟเพื่อการค้าเริ่มขึ้นรอบๆ แม่น้ำ Paraiba ใกล้กับ Rio de Janeiro โดยพื้นที่นี้ไม่เพียงแต่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเท่านั้น แต่การที่มันอยู่ใกล้กับ Rio de Janeiro ยังช่วยเรื่องการส่งออกด้วย ไร่กาแฟเพื่อการค้าแห่งแรกๆของบราซิลนั้น เป็นไร่ขนาดใหญ่ที่ใช้แรงงานทาสต่างจากไร่ขนาดเล็กที่เฟื่องฟูในอเมริกากลาง ซึ่งการทำไร่เชิงอุตสาหกรรมนี้ต่างกันที่ทำกันทั่วโลกขณะนั้น และเป็นเอกลักษณ์ของการผลิตกาแฟในบราซิล การผลิตกาแฟในสมัยนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรง โดยคนที่มีอำนาจมากกว่าจะชนะในการโต้แย้งเรื่องขอบเขตไร่กาแฟที่ไม่ชัดเจนและทาสเพียงคนเดียวต้องดูแลต้นกาแฟกว่า 4,000 – 7,000 ต้น และเมื่อดินหมดความอุดมสมบูรณ์ เจ้าของไร่ก็จะย้ายไปทำไร่บนผืนดินผืนใหม่

การผลิตกาแฟเติบโตอย่างรวดเร็วระหว่างปี 1820 และ 1830 มันแซงความต้องการภายในประเทศและเริ่มกระจายรายออกไปสู่ตลาดโลก กลุ่มคนที่ควบคุมการผลิตกาแฟกลายเป็นกลุ่มคนที่ร่ำรวย มีอำนาจ และเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น ‘บารรอนกาแฟ’ (Coffee Barons) โดยความต้องการของคนเหล่านี้มักมีอิทธิพลต่อนโยบายและการส่งเสริมของรัฐในด้านอุตสาหกรรมกาแฟ
ภายในปี 1830 บราซิลผลิตกาแฟประมาณ 30% ของผลผลิตกาแฟโลก นี่เพิ่มขึ้นเป็น 40% ในปี 1840 แม้ว่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมากจะทำให้ราคากาแฟโลกตกลงก็ตาม อุตสาหกรรมกาแฟของบราซิลพึ่งพาแรงงานทาสมาจนถึงกลางศตวรรษที่ 19 โดยมีทาสมากกว่า 1.5 ล้านคน ถูกนำมาทำงานในไร่กาแฟในตอนที่อังกฤษหยุดการค้าทาสระหว่างบราซิลกับแอฟริกาในปี 1850 บราซิลก็หันไปหาแรงงานอพยพและการค้าทาสภายในประเทศแทน มีความกลัวว่าการเลิกทาสในปี 1888 จะทำให้อุตสาหกรรมกาแฟเสียหาย แต่ผลผลิตในปีนั้นและปีต่อๆ มาก็ยังเป็นไปได้ด้วยดี

» การเติบโตครั้งที่สอง «

การเติบโตแบบก้าวกระโดดครั้งที่สองเกิดขึ้นตั้งแต่ยุค 1888s ไปจนถึงยุค 1930s ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตั้งชื่อตามผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดสองอย่าง โดยอิทธิอันมากมายของบารอนกาแฟจาก Sao Paolo และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมใน Minas Gerais นั้นนำไปสู่การครอบงำทางการเมืองที่เรียกว่าช่วง Cafecom Ieite ในช่วงนี้รัฐบาลบราซิลเริ่มพยุงราคากาแฟโดยรัฐจะซื้อกาแฟจากผู้ผลิตในราคาที่สูงตอนที่ราคากาแฟในตลาดโลกต่ำและเก็บรักษามันไว้จนกว่าราคาในตลาดจะสูงขึ้น นี่หมายถึงราคากาแฟที่มั่นคงสำหรับบารอนกาแฟและป้องกันกาแฟล้นตลาดด้วย

ภายในยุค 1920s บราซิลผลิตกาแฟ 80% ของผลผลิตกาแฟโลกและกาแฟก็เป็นเงินทุนสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมายในประเทศ แต่การผลิตที่ไม่หยุดหย่อนนี้ก็นำไปสู่ภาวะกาแฟล้นตลาดที่มีเพียงจะเพิ่มผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงยุค 1930s ซึ่งรัฐบาลบราซิลต้องเผากาแฟที่เก็บไว้กว่า 78 ล้านกระสอบ เพื่อพยายามยกราคากาแฟขึ้นแม้ว่ามันจะได้ผลเพียงน้อยนิดก็ตาม

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกามีความกังวลว่าตลาดยุโรปที่ปิดไปและราคากาแฟที่ตกต่ำจะผลักดันให้ประเทศในอเมริกากลางและใต้ไปสู่นาซีหรือคอมมิวนิสต์เพื่อทำให้ราคากาแฟมีเสถียรภาพ จึงมีการทำข้อตกลงบนระบบโควตาซึ่งสามารถดันราคากาแฟขึ้นมาจนมีเสถียรภาพในช่วงกลางยุค 1950s ข้อตกลงนั้นถือเป็นก้าวแรกของข้อตกลง International coffee Agreement (ICA) ที่ลงนามกันในปี 1962 และครอบคลุมประเทศผู้ปลูกกาแฟกว่า 42 ประเทศ โดยโควตากาแฟจะสัมพันธ์กับราคากาแฟที่กำหนดโดยองค์การกาแฟระหว่างประเทศ (International coffee Organization (ICO)) หากราคากาแฟตกโควตาก็จะตกตาม และหากกาแฟขึ้นโควตาก็จะขึ้นตาม

ข้อตกลงนี้จบลงในปี 1989 หลังจากบราซิลปฏิเสธโควตาที่ลดลง โดยบราซิลเชื่อว่าตัวเองเป็นผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพและสามารถเฟื่องฟูโดยไมมีข้อตกลงนี้ได้ ผลจากความล้มเหลวในการทำข้อตกลง ICA คือตลาดที่ไม่มีการควบคุม และราคาที่ตกลงอย่างน่าใจหายตลอดห้าปีต่อมา และนำไปสู่วิกฤติราคากาแฟที่จุดประกายให้กับการค้าอย่างเป็นธรรม (Fair Trade) ในอุตสาหกรรมการผลิตกาแฟ

» ปีที่ดีและไม่ดี «

เนื่องจากบราซิลเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ของโลก อะไรก็ตามที่กระทบต่อการผลิตกาแฟในบราซิลก็จะส่งผลกระทบต่อราคากาแฟโลก หนึ่งในปัจจุบันนี้คือ วัฎจักรผลผลิตในบราซิลที่สลับไปมา หลายปีที่ผ่านมาทำให้เห็นกันอย่างชัดเจนว่าผลผลิตกาแฟในบราซิลจะแกว่งไปมาระหว่างผลผลิตมากและผลผลิตน้อย มีความพยายามเพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยนี้และทำให้มีความต่างในแต่ละปีน้อยลงและมีความเสถียรมากขึ้น เหตุผลที่ทำให้เกิดผลผลิตที่แกว่งนี้คือ ธรรมชาติของต้นกาแฟที่จะให้ผลผลิตตามวัฎจักรนี้อยู่แล้ว และมันสามารถควบคุมได้ด้วยการตัดแต่งกิ่งอย่างเบาบาง (Light Pruning) การตัดแต่งอย่างเบาบางนั้น ไม่ใช่วิธีที่ทำกันเป็นปกติในบราซิล เพราะเกษตรกรชอบที่จะตัดแต่งกิ่งอย่างหนัก (Hard Pruning) จึงทำให้มีผลผลิตในปีถัดไปน้อยลง

มีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ในอดีต เช่นปรากฎการณ์น้ำค้างแข็งดำ (Black Frost) ในปี 1975 ที่ทำให้ผลผลิตในปีถัดไปลดลงกว่า 75% ซึ่งผลกระทบจากน้ำค้างแข็งนี้ทำให้ราคากาแฟโลกขึ้นไปกว่าเท่าตัวในทันทีในปี 2000 และ 2001 ผลผลิตกาแฟหดลงติดกันทั้งสองปีและทำให้ผลผลิตในปี 2002 นั้นสูงมาก ซึ่งนี้ก็สอดคล้องกับราคากาแฟที่ซบเซาเป็นเวลานาน เพราะผลผลิตกาแฟที่ล้นตลาด

» การผลิตกาแฟสมัยใหม่ «

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบราซิลเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟที่ทันสมัยและเป็นอุตสาหกรรมที่สุดในโลก แต่ด้วยการผลิตที่เน้นปริมาณผลผลิต บราซิลจึงยังไม่ค่อยมีชื่อด้านกาแฟคุณภาพสูงมากหนัก โดยไร่กาแฟขนาดใหญ่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเก็บเกี่ยวแบบหยาบๆ เช่น การรูดผลกาแฟออกทั้งกิ่งและหากมันเป็นไร่ขนาดใหญ่บนพื้นราบ (ปกติไร่กาแฟขนาดใหญ่ในบราซิลจะเป็นแบบนี้) การเก็บเกี่ยวก็จะทำด้วยเครื่องจักรที่จะเขย่าผลกาแฟออกจากกิ่ง ทั้งสองวิธีไม่คำนึงถึงความสุกของผลกาแฟเลย และผลผลิตที่ได้อาจมีผลไม่สุกอยู่จำนวนมาก

บราซิลแปรรูปกาแฟจำนวนมากด้วยการตากบนลานกลางแจ้งมาตลอด (ดูหน้า 32) การเข้ามาของการแปรรูปแบบ Pulped Natural Process ในช่วงต้นยุค 1990s ช่วยพัฒนาคุณภาพกาแฟขึ้น แต่ผู้ผลิตกาแฟชนิดพิเศษในบราซิลที่อาจจะเก็บเกี่ยวด้วยมือ ล้างกาแฟ และปลูกสายพันธุ์ที่น่าสนใจบนไร่ที่มีความสูงกว่าปกติ ต่างต้องเผชิญกับชื่อเสียงของประเทศด้านการเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟที่มีความเปรี้ยวน้อย บอดดี้มาก และเหมาะกับเบลนด์เอสเพรสโซ

แม้ว่ากาแฟส่วนใหญ่จะปลูกขึ้นความสูงที่ต่ำกว่าความสูงที่เหมาะสมสำหรับกาแฟคุณภาพ มันก็ยังเป็นไปได้ที่จะหากาแฟที่น่าสนใจและอร่อย ซึ่งบราซิลก็มีกาแฟที่สะอาด หวาน และไม่ค่อยเปรี้ยวที่คนจำนวนมากคิดว่ามันอร่อยและดื่มง่าย

» การบริโภคในประเทศ «

บราซิลพยายามเพิ่มการบริโภคภายในประเทศอย่างจริงจังและประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าการให้เด็กดื่มกาแฟที่โรงเรียนอาจดูแปลก แต่ปัจจุบันการบริโภคกาแฟในบราซิลก็ขึ้นไปอยู่ระดับใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกาแล้ว บราซิลไม่อนุญาตให้นำเข้าเมล็ดกาแฟดิบ ดังนั้นจึงหมายความว่าผลผลิตจำนวนมากที่ปลูกในประเทศก็ใช้บริโภคภายในประเทศ แต่ปกติแล้วคุณภาพกาแฟที่ใช้บริโภคในประเทศก็จะต่ำกว่าคุณภาพกาแฟสำหรับส่งออก

บาร์กาแฟเริ่มผุดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ แต่ราคากาแฟที่บาร์กาแฟเหล่านี้สูงเทียบเท่าบาร์กาแฟในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปที่ดีกว่า ดังนั้นมันจึงกลายเป็นอีกสัญลักษณ์ที่แบ่งแยกคนจนกับคนรวยในบราซิล

» การสืบค้นย้อนกลับ (TRACEABILITY) «

กาแฟคุณภาพสูงของบราซิลมักสามารถสืบย้อนที่มาได้ถึงไร่ที่ปลูกมัน (Fazenda) ในขณะที่กาแฟคุณภาพต่ำนั้นจะมาแบบบล็อทใหญ่ที่ไม่สามารถสืบย้อนที่มาได้ กาแฟที่เขียนว่า ‘Santos’ นั้นแค่มาจากท่าเรือ Santos และไม่ได้มีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับแหล่งปลูกกาแฟเลย บางครั้งความสัมพันธ์ของความสามารถในการสืบค้นย้อนกลับกับคุณภาพก็ใช้ไม่ได้กับประเทศบราซิล เพราะด้วยไร่กาแฟขนาดใหญ่ที่ผลิตกาแฟได้มากกว่าประเทศโบลิเวีย คุณอาจจะสามารถสืบย้อนที่มาของกาแฟได้ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นกาแฟคุณภาพ

 » โปรไฟล์รสชาติ «

กาแฟบราซิลที่มีคุณภาพมักมีความเปรี้ยวน้อย บอดี้มาก หวาน และมักมีรสช็อคโกแลตหรือถั่ว

» พื้นที่ปลูกกาแฟ «

ประชากร :201,033,000 คน
จำนวนกระสอบขนาด 60 กก.
ในปี 2013 : 47,544,000 กระสอบ

บราซิลมีสายพันธุ์กาแฟค่อนข้างหลากหลายและหลายๆ สายพันธุ์ก็ถูกพัฒนาขึ้นหรือวิวัฒนาการเองที่บราซิล เช่น สายพันธุ์ Mundo, Novo,Yellow Bourbon,Caturra และ Catuai

BAHIA
รัฐขนาดใหญ่ทางตะวันออกของบราซิลนี้เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟที่อยู่ตอนเหนือสุดของพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมดในบราซิล หลายปีที่ผ่านมามีกาแฟที่น่าสนใจมาจากพื้นที่นี้หลายตัว ซึ่งหลายคนเริ่มสังเกตเห็นเมื่อครั้งที่มีการจัดการแข่งขัน Cup of Excellence ในปี 2009 ที่กาแฟ 5 ตัว จากรายชื่อสิบอันดับแรกมาจาก Bahia

CHAPADA DIAMANTINA
นี่เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่สวยงามและตั้งชื่อตามสภาพธรณีวิทยาของมัน โดยชื่อ “Chapada” หมายถึง ผาชันที่มีในพื้นที่และคำว่า “Diamantina” หมายถึงเพชรที่พบในพื้นที่ในศตวรรษที่ 19 มีไร่กาแฟหลายไร่ที่นี่ที่ปลูกกาแฟตามหลักการเกษตรชีวพลวัตร (Biodynamic) ซึ่งเป็นการเกษตรอินทรีย์ที่พัฒนาโดย Rudolph Steiner

ความสูง : 1,000 – 1,200 เมตร
ฤดูเก็บเกี่ยว : มิถุนายน – กันยายน

CERRADO DO BAHIA / WEST BAHIA
พื้นที่นี้เต็มไปด้วยการผลิตกาแฟแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในช่วงปลายยุค 1970s ไปถึงต้นยุค 1980s พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมการเกษตรของรัฐบาลที่เปิดให้เกษตรกรประมาณ 600 คนที่ย้ายมาที่นี่กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ พื้นที่กว่า 9,375,000 ไร่ กลายเป็นพื้นที่การเกษตรภายในปี 2006 แต่กาแฟก็ยังเป็นพื้นที่ส่วนน้อยอยู่ ด้วยสภาพอากาศที่คงที่ อุ่น และแดดแรงกาแฟของที่นี่จึงมีผลผลิตจำนาวนมาก แต่มันค่อนข้างยากที่จะหากาแฟที่น่าทึ่งจากที่นี่

ความสูง : 700 – 1,000 เมตร
ฤดูเก็บเกี่ยว : พฤษภาคม – กันยายน

PLANALTO DE BAHIA
พื้นที่นี้เน้นการผลิตโดยเกษตรกรรายย่อย และด้วยอุณหภูมิที่เย็นกับความสูงของพื้นที่ปลูก กาแฟของที่นี่จึงคุณภาพสูง

ความสูง : 700 – 1,300 เมตร
ฤดูเก็บเกี่ยว : พฤษภาคม – กันยายน

MINAS GERAIS
รัฐ Minas Gerais ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศนี้มีภูเขาสูงจำนวนมาก ซึ่งเหมาะแก่การปลูกกาแฟ

CERRADO
ชื่อ Cerrado หมายถึง ทุ่งสะวันนาเขตร้อน ซึ่งบางคนอาจใช้ชื่อนี้เพื่อสื่อถึงทุ่งสะวันนาที่ทอดยาวตามหลายๆรัฐของบราซิล แต่เมื่อพูดถึงกาแฟมันก็จะหมายถึงพื้นที่ Cerrado ทางตะวันตกของรัฐ Minas Gerais พื้นที่นี้เป็นแหล่งปลูกกาแฟที่ค่อนข้างใหม่ และนั่นอาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมมันจึงมาแต่ไร่ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องจักร โดยไร่กาแฟที่นี่กว่า 90% นั้นใหญ่กว่า 62 ไร่

ความสูง : 850 – 1,250 เมตร
ฤดูเก็บเกี่ยว : พฤษภาคม – กันยายน

SUL DE MINAS
ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟหลักของบราซิลและปัจจุบันก็มีผู้ปลูกกาแฟรายย่อยที่ทำสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นอยู่มากมาย อาจจะเพราะเหตุผลนี้เองที่ทำในที่นี่มีสหกรณ์มากกว่าพื้นที่อื่น แต่แม้ว่าจะเต็มไปด้วยไร่เล็กๆ แต่พื้นที่นี้ก็ยังมีความเป็นอุตสาหกรรมและใช้เครื่องจักรเพื่อเก็บเกี่ยวอยู่มาก มีบางแหล่งปลูกในพื้นที่นี้ที่ได้รับความสนใจมากขึ้น เช่น ที่เขต Carmo de Minas ใกล้กับหมู่บ้าน Carmo ที่ใช้ความได้เปรียบด้านดินอันอุดมสมบูรณ์และสภาพอากาศที่เหมาะสมเพื่อปลูกกาแฟที่ดีขึ้น

ความสูง : 700 – 1,350 เมตร
ฤดูเก็บเกี่ยว : พฤษภาคม – กันยายน

CHAPADA DE MINAS
พื้นที่นี้อยู่ทางเหนือห่างจากพื้นที่ปลูกกาแฟที่เกาะกลุ่มกันอยู่ทางใต้ โดยการปลูกกาแฟที่นี่เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายยุค 1970s มันเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟที่ไม่ใหญ่มาก และผู้ผลิตบางรายก็ใช้ประโยชน์จากที่ราบเพื่อใช้เครื่องจักรในไร่

ความสูง : 800 – 1,100 เมตร
ฤดูเก็บเกี่ยว : พฤษภาคม – กันยายน

MATAS DE MINAS
นี่เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟแห่งแรกๆ ของบราซิล และเป็นพื้นที่ที่สร้างความร่ำรวยจากกาแฟและผลิตภัณฑ์นมในช่วงปี 1850 ถึง 1930 และแม้ว่าการเกษตรในพื้นที่จะหลากหลายขึ้น แต่รายได้ทางการเกษตรกว่า 80% ก็ยังมาจากกาแฟ ภูมิประเทศที่สูงต่ำไม่เท่ากันและมีเนินเขาชัน หมายความว่าการเก็บเกี่ยวปกติแล้วจะทำด้วยมือ แต่แม้ว่าจะมีเกษตรกรรายย่อยมากมาย (ไร่กาแฟเกือบ 50% เป็นไรขนาดเล็กกว่า 62 ไร่) พื้นที่นี้ก็ไม่ได้มีชื่อด้านคุณภาพอย่างที่เราคาด อย่างไรก็ตามนี่กำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และก็เริ่มมีไร่กาแฟที่ผลิตกาแฟที่ยอดเยี่ยมมากขึ้น

ความสูง : 550 – 1,200 เมตร
ฤดูเก็บเกี่ยว : พฤษภาคม – กันยายน

SAO PAOLO
รัฐ Sao Paolo ครอบคลุมพื้นที่ปลูกกาแฟที่มีชื่อของบราซิลคือ Mogiana โดยมันถูกตั้งชื่อตามบริษัท Mogiana Railroad Company ที่สร้าง ‘เส้นทางรถไฟสายกาแฟ’ ในปี 1883 และทำให้การขนส่งและการขยายตัวของการผลิตกาแฟเติบโตขึ้น

ความสูง : 800 – 1,200 เมตร
ฤดูเก็บเกี่ยว : พฤษภาคม – กันยายน

MATO GROSSO และ MATOGROSSO DOSUL
พื้นที่ผลิตกาแฟปริมาณเล็กน้อยเท่านั้นพื้นที่ราบสูงที่กว้างขวางของที่นี่เหมาะกับการเลี้ยงวัวปลูกถั่วเหลืองมากกว่า

ความสูง : เฉลี่ยประมาณ 600 เมตร
ฤดูเก็บเกี่ยว : พฤษภาคม – กันยายน

ESPIRITO SANTO
แม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่าพื้นที่ปลูกกาแฟที่อื่นในบราซิล แต่พื้นที่นี้ก็เป็นผู้ผลิตกาแฟอันดับสองของประเทศ โดยมีเมืองหลักคือ Vittoria เป็นเมืองท่าสำคัญสำหรับส่งออกอย่างไรก็ตาม เกือบ 80% ของกาแฟที่ผลิตได้นั้นเป็นกาแฟคอนนิลลอน (โรบัสต้า) ทว่ายังมีเกษตรกรทางตอนใต้ของพื้นที่ที่ปลูกอาราบิก้าและผลิตกาแฟที่น่าสนใจหลายตัว

ความสูง : 900 – 1,200 เมตร
ฤดูเก็บเกี่ยว : พฤษภาคม – กันยายน

PARANA
บางคนบอกว่ารัฐนี้เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟที่อยู่ทางใต้สุดในโลก แต่ที่แน่ๆมันเป็นพื้นที่การเกษตรที่สำคัญของบราซิล แม้ว่าจะมีพื้นที่เพียง 2.5% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศแต่มันสามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรได้กว่า 25% ของผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมด กาแฟเคยเป็นพืชที่สำคัญที่สุดของที่นี่ แต่ผู้ผลิตหลายรายหันไปปลูกพืชอื่นร่วมด้วยหลังจากเหตุการณ์น้ำค้างแข็งที่สร้างความเสียหายแก่ต้นกาแฟในปี 1975 ปัจจุบันพื้นที่นี้ผลิตกาแฟได้เกือบ 2 ล้านกระสอบเทียบกับ 22 ล้านกระสอบในอดีต ชาวอาณานิคมรุ่นแรกตั้งถิ่นฐานใกล้กับชายฝั่งแต่ต่อมาพวกเขาก็ย้ายเข้าไปภายในประเทศมากขึ้นเพื่อปลูกกาแฟ พื้นที่นี้ขาดความสูงที่กาแฟคุณภาพสูงต้องการแต่อุณหภูมิที่เย็นก็ช่วยให้ผลกาแฟสุกช้าลงด้วย

ความสูง : ไม่เกิน 950 เมตร
ฤดูเก็บเกี่ยว : พฤษภาคม – กันยายน

ที่มา : หนังสือ THE WORLD ATLAS OF COFEE BY JAMES HOFFMANN